Header Ads

test
Homepro Promotion

หลักการออกแบบบ้านเย็นฉ่ำ สุขได้ทุกฤดูกาล จะร้อน จะหนาว ไม่มีหวั่น

ทุกคนก็คงจะรู้กันอยู่แล้ว ว่าบ้านเมืองเราเนี่ย มีแต่หน้าร้อน ร้อน และร้อนมาก การออกแบบบ้าน จึงต้องคิดเยอะนิดนึง เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงและป้องกันความร้อน ในการอยู่อาศัย เราจะได้มีความสุขทั้งร่างกายและสุขใจไปพร้อมกัน

ภาพจาก Curbed

ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว มากยิ่งขึ้น เทรนด์การตกแต่งบ้านสมัยใหม่ นอกจากความสวยงามแล้ว ยังให้ความสำคัญกับ “สภาพอากาศ” ด้วยเช่นกัน การออกแบบบ้านที่ดี เมื่อเราเดินเข้าบ้านไปแล้ว อุณภูมิภายในบ้าน ควรเย็นกว่าอุณภูมิภายนอกประมาณ 5 องศาขึ้นไป นอกจากจะช่วยสร้างความสบายเนื้อ สบายตัว และยังสามารถช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ดีอีกด้วย

ภาพจาก archdaily.com

วันนี้ขอนำเสนอแนวทางพื้นฐานในการออกแบบบ้าน ที่จะสามารถช่วยปรับอุณภมิให้เย็นลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเน้นการออกแบบให้มีความสอดคล้องกับธรรมชาติ เพื่อสร้างบรรยากาศบ้านให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น

วางแผนผังบ้านตามพระอาทิตย์


อันดับแรกเลยในการออกแบบบ้านเพื่อลดอุณภูมิ จะต้องวางแผนผังบ้าน ให้สอดรับกับธรรชาติอย่าง ทิศทางขึ้นลงของพระอาทิตย์ เพราะบางห้องต้องการแสงแดดเพื่อลดความชื้น ในขณะเดียวกันบางห้องต้องการความร่มรื่นและเย็นสบาย

ภาพจาก Interior Design Ideas

สภาพอากาศประเทศเรา หน้าร้อนและหน้าฝน ยาวนานมากที่สุด ตามธรรมชาติแล้ว พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก เดินทางเบี่ยงอ้อมไปทางใต้และตกทิศตะวันตก ดังนั้นด้านที่ได้รับแสงแดดร้อนมากที่สุด จะเป็นทิศใต้ และตะวันตก เหมาะกับการจัดเป็นห้องที่ต้องการลดความชื้นอย่างห้องน้ำ หรือห้องครัว

ส่วนทางทิศเหนือเฉลี่ยตลอดทั้งปี จะเป็นทิศที่ได้รับแสงน้อยมากที่สุด เหมาะกับห้องที่เราพักผ่อนตลอดทั้งวันอย่าง ห้องนั่งเล่น และ ห้องนอน

ช่องระบายอากาศ ช่องลม


การจัดวางทิศทางของห้อง หรือตั้งกำแพงเพื่อบดบังแสงเพียงอย่างเดียว ก็คงยังไม่พอสำหรับการปรับลดอุณภูมิของบ้านให้เย็นลง เพราะส่วนที่ได้รับแสงแดดมากที่สุด ไม่ใช่กำแพงบ้านอย่างที่ทุกคนคิดกันนะ แต่เป็นหลังคาบ้านต่างหาก ที่รับแสงแดดร้อนแบบเต็มๆ

ภาพจาก My Fancy House

ดังนั้นการออกแบบบ้าน ให้มีช่องระบายอากาศ จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพื่อช่วยให้อากาศหมุนเวียนเปลี่ยนถ่าย ไม่อบอ้าวอยู่แค่ภายใน บ้านที่ดี จะต้องมีช่องลมเข้า และช่องลมออก เพื่อพัดผ่านความร้อนให้ถ่ายเทออกไป ตามธรรมชาติ

โดยทิศทางของลมธรรมชาติ ปกติแล้วจะมาจากทางทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ 9 เดือน ส่วนทางทิศเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 3 เดือน ดังนั้นควรเพิ่มช่องลมในทิศทางดังกล่าวเพื่อให้ลมสามารถพัดผ่านเข้ามาภายในบ้านปรับบ้านให้เย็นสบายมากกว่าที่เคย

เคล็ดลับดี๊ดีต้องบอกต่อ


สำหรับทางทิศใต้ และ ตะวันตกเฉียงใต้ ถึงแม้ว่าจะได้รับลมเย็นตลอดเกือยจะทั้งปีก็จริง แต่ก็เป็นทิศที่ได้รับแสงแดดร้อนจัดแบบเต็มๆด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงควรเพิ่มช่องบังแสง ที่สามารถรับลมเข้ามาได้ด้วย อย่างพวก ไม้ระแนง หรือเป็นอิฐบล็อคช่องลม

เลือกใช้หลังคาทรงสูง


อย่างที่บอกไปแต่แรกว่า หลังคาบ้านเนี่ย เป็นจุดที่ได้รับความร้อนแบบเต็มๆ หลังคาบ้านที่ดี จึงควรมีรูปทรงที่สอดรับกับธรรมชาติ โดยหลักการแล้วมวลอากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสู่ที่สูงเสมอ ดังนั้นการที่มีหลังคาบ้านสูงโปร่ง ทำให้มวลอากาศลอยตัวขึ้นไปได้

ภาพจาก designservicesltd.com

และที่สำคัญคือการเพิ่มช่องระบายอากาศให้กับโถงหลังคา จะช่วยระบายความร้อนสะสมภายในบ้าน ค่อยๆถ่ายเทออก และหมุนเวียนอากาศใหม่ๆเข้ามาอยู่ตลอด

รูปทรงหลังคาบ้าน


นอกจากการออกแบบโถงหลังคาให้สูงแล้ว รูปทรงของหลังคาก็มีส่วนในการช่วยลดอุณภมิภายในบ้านด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หลังคาแบบแบนๆ จะสัมผัสกับแสงอาทิตย์โดยตรงทั้งผืน ความร้อนภายในบ้านก็จะอุณภูมิสูงกว่า หลังคาแบบมีความชัน

ภาพจาก plumtreeplace.com

ส่วนหลังคาที่มีองศาและความชัน จะเป็นหลังคาหน้าจั่ว หลังคามะนิลา หรือหลังคาแบบปั้นหยา จะสัมผัสกับแสงอาทิตย์ได้น้อยกว่า แถมยังสร้างเงาบดบังหลังคาด้านตรงข้าม ทำให้อุณภูมิและอากาศภายในบ้านเย็นตัวลง

ตัวช่วยวัสดุป้องกันความร้อน


ในเมื่อเราออกแบบบ้านตามหลักการของธรรมชาติแล้ว บ้านของเราก็เย็นลงในระดับนึงเนอะ แต่หากคุณต้องการให้บ้านมีอุณภูมิที่เย็นมากกว่าเดิมไปอีก แนะนำให้มองหาวัสดุที่เป็นตัวช่วยในกรป้องกันความร้อน มาติดตั้งเสริม หรือเลือกเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อน ไม่นำ และไม่อมความร้อน เข้ามาช่วย

ภาพจาก CNY Roof Cleaning

บริเวณรอบบ้าน


บริเวณสวนรอบบ้าน ควรหลีกเลี่ยงการเทปูนซีเมนต์ เพราะว่าพื้นซีเมนต์มีคุณสมบัติอมความร้อน ส่งผลให้ยามค่ำคืน แม้ว่าพระอาทิตย์จะลาลับขอบฟ้าไปแล้ว ความร้อนก็ยังคงแผ่กระจายอยู่ตลอด ทำให้บ้านของเราร้อนอบอ้าวมากขึ้น

แนะนำว่าให้เลือกเป็นวัสดุที่มีช่องระบายอากาศ เช่น พื้นตัวหนอน พื้นอิฐ พื้นช่องลม พื้นหิน ระเบียงไม้ พื้นหญ้าสนาม หรือวัสดุอะไรก็ได้ ที่มีคุณสมบัติถ่ายเทอากาศ

ภาพจาก The Garden Inspirations

ผนังบ้าน


ผนังบ้านของเรา ก็เป็นอีกส่วนที่กระทบกับแสงแดดโดยตรง ปัจจุบันจึงมีการออกแบบพัฒนาวัสดุก่อสร้าง เพื่อที่จะทำเป็นฉนวนกันความร้อนให้กับกำแพงบ้าน อย่างเช่นผนังโฟม หรือ ผนัง 2 ชั้น และเพิ่มฉนวนใส่เอาไว้ตรงช่องว่างตรงส่วนกลาง ก็จะสามารถช่วยป้องกันความร้อนไม่ให้เข้าสู่ตัวบ้านได้ดีด้วย หรือคุณอาจจะเลือกก่อผนังด้วยอิฐมวลเบา ที่มีคุณสมบัติกันความร้อนได้ดีกว่าพวกอิฐมอญแดง

ภาพจาก prominentconstructionllc.com

นอกจากนี้ คุณอาจจะเพิ่มตัวช่วยป้องกันอีกชั้นนึง ด้วยวัสดุประเภทไม้ระแนง, บล็อคช่องลม หรือฟาซาด เพื่อช่วยกรองแสงให้มีความร้อนลดน้อยลง

หลังคาบ้าน


นอกจากการเลือกทรงหลังคาสูงโปร่งแล้ว การเพิ่มฉนวนกันความร้อนใต้โถงหลังคา จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้บ้านเรามีอุณภูมิต่ำลงได้มากขึ้น สามารถติดตั้งได้ 2 ลักษณะ คือ ติดตั้งฉนวนบนฝ้าเพดาน และ ติดตั้งฉนวนใต้แผ่นกระเบื้องหลังคา

ภาพจาก homesealni.co.uk

ปลูกไม้ยืนต้นให้ถูกทิศ


อีกสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ ต้นไม้ ควรปลูกไว้ในทางทิศใต้ หรือ ตะวันตกเฉียงใต้ เป็นทิศที่รับแสงมากกว่าทิศอื่นๆ จะช่วยป้องกันแสงแดด ปรับอุณภูมิบ้านให้มีความเย็นสบายได้มากยิ่งขึ้น

ภาพจาก thegardeninspirations.biz

นอกจากป้องกันแดดได้ดีแล้ว ลมที่พัดผ่านกระทบกับต้นไม้และพุ่งไม้ เข้าสู่ตัวบ้าน จะถูกเปลี่ยนให้เป็นลมเย็น กรองฝุ่นละออง นอนพักผ่อนนั่งฟังเสียงต้นไม้ใบหญ้ากระทบกันแบบเพลินๆ สร้างรรยากาศผ่อนคลายให้กับบ้านได้ดีเลยทีเดียว

อ่านมาจนถึงจุดนี้แล้ว เชื่อว่าทุกคนคงจะเริ่มคิดตัดสินใจปรับเปลี่ยนบ้าน ให้ตรงตามเคล็ดลับที่นำมาเสนอทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างความเย็นสบายให้กับภายในบ้าน ให้เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศของเรา ที่หน้าร้อนลากยาวตลอดแทบจะทั้งปี !

ไม่มีความคิดเห็น